กัญชานับว่าเป็นพืชชนิดหนึ่ง ที่อีกไม่นานน่าจะมีบทบาทสำคัญต่อวงการเกษตรของบ้านเราอย่างแน่นอน เนื่องจากการถูกปลดจากการเป็นสารเสพติดประเภทที่ 5 ดังนั้นวันนี้ผมจะมาว่ากันด้วยเรื่องของกัญชา ว่าในขณะนี้เราจะสามารถ ปลูกกัญชา ได้แล้วหรือยัง และเรียนรู้วิธีปลูกกัญชาเผื่อไว้ในอนาคตด้วย
กัญชา คืออะไร
กัญชา เป็นพืชให้ดอกที่มีต้นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียกลาง และก็นำไปกระจายปลูกในหลาย ๆ ส่วนของโลก เป็นพืชที่มีต้นตัวผู้และตัวเมียแยกกัน สารสําคัญในกัญชาคือสารแคนนาบินอยด์ ซึ่งมีมากกว่า 100 ตัวเลยทีเดียว ซึ่งสารสำคัญคือ Tetrahydrocannabinol ซึ่งสารนี้ทำให้เกิดการกระตุ้นประสาท การที่จะมีสารนี้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และพื้นที่ที่ใช้ในการปลูก สายพันธุ์ที่ใช้ปลูก และวิธีการปลูก รวมถึงส่วนของกัญชาที่เรานำมาใช้ด้วย แต่ส่วนที่มีสารดังกล่าวนี้มากที่สุดคือบริเวณช่อดอกและใบ
เรา ปลูกกัญชา ได้ตามกฎหมายหรือยัง
การที่เราจะบอกว่าเราสามารถปลูกกัญชาได้อย่างเสรีตามครัวเรือนนั้น แท้จริงแล้วก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ การปลูกกัญชานั้นจำเป็นต้องดำเนินการในลักษณะร่วมกับหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจชุมชน และจำเป็นที่จะต้องจดแจ้งขออนุญาตที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ หรืออยู่ท้องถิ่นของเราด้วย
จากข้อมูลอีกแหล่งกล่าวว่า เกษตรกรสามารถปลูกกัญชาได้ในกรณีที่ใช้ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและการพัฒนาการเกษตร หรืออุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอื่น ๆ ถึงแม้ว่าในประมวลกฎหมายอาญาจะทำการตัดกัญชาออกจากการเป็นสารเสพติดแล้ว แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีการอนุมัติอย่างเป็นทางการ ดังนั้นหากจะกล่าวให้ถูกต้องคือ หากเราจะปลูกกัญชาเองที่บ้าน ก็ยังคงมีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุมอยู่ ถึงแม้จะมีการพูดกันไว้นานมาแล้วก็ตาม ดังนั้นตอนนี้เราคงได้แต่เรียนรู้เพื่อรอวันที่เราสามารถปลูกกัญชาเสรีได้อย่างเสรีจริง ๆ
วิธีปลูกกัญชา แบบฉบับของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
ตัวอย่างการปลูกกัญชาที่เรายกมานี้ จะเป็นวิธีการปลูกกัญชาของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ทางโรงพยาบาลปลูกไว้เพื่อใช้ทางการแพทย์ ซึ่งมีการปลูกไว้ด้วยกัน 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบโรงเรือนระบบปิด โรงเรือนเพาะปลูกพืช และระบบแปลงเปิด
อย่างระบบแรกคือระบบปิด เหมาะกับการปลูกกัญชาสายพันธุ์ลูกผสมต้นไม่สูงมากนัก และปลูกได้ถึง 3-4 รอบต่อปีเลยทีเดียว ใช้วิธีการปลูกแบบ Aeroponics และ Deep Water Culture วิธีการปลูกนี้สามารถควบคุมสภาวะในการปลูกได้อย่างมั่นคงและแน่นอน แต่ข้อเสียคือต้นทุนค่อนข้างสูง
การปลูกกัญชาในระบบโรงเรือนเพาะปลูกนั้น ที่นี่จะปลูกโดยใช้ระบบน้ำหรือ Hydroponics และการปลูกระบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อทำการเปรียบเทียบกัน และแนะนำวิธีการปลูกและความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้เกษตรกร
ต่อไปเป็นการปลูกกัญชาในระบบเปิด โดยที่นี่มักจะปลูกกัญชาในระบบนี้โดยใช้กัญชาสายพันธุ์ไทย เช่น กัญชาพันธุ์หางกระรอก โดยจะมีการปลูกกิ่งปักชำจากเมล็ด เพื่อนำส่วนต่าง ๆ เช่น ใบ ลำต้น และรากมาเป็นวัสดุในการผลิตยา ข้อดีของการปลูกในระบบนี้คือได้ผลผลิตที่ดีและมีต้นทุนต่ำ
หัวใจสำคัญของการปลูกกัญชา อยู่ที่การจัดการน้ำและดิน อีกทั้งยังมีสระธาตุอาหารที่จำเป็นเช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม สังกะสี และธาตุเหล็ก รวมถึงต้องมีการกำจัดศัตรูพืชอย่างเหมาะสมด้วย จำเป็นต้องมี ความปลูกและระบบระบายน้ำและอากาศที่ดี
ในเรื่องของดิน ดินปลูกกัญชาผสมอะไรบ้าง ในดินจะมีการผสมปุ๋ยหมัก เช่น แกลบ ฟางข้าว ขุยมะพร้าว หรือกาบมะพร้าว ดินปลูกกัญชาไม่ควรปลูกในดินที่แข็งแน่นหรือแฉะจนเกินไป จะทำให้รากของกัญชาเติบโตได้ไม่ค่อยดี และเสี่ยงต่อการเกิดโรครากเน่าได้อีกด้วย แต่ที่นี่นิยมจะใช้กากมะพร้าวและขุยมะพร้าวเป็นหลัก โดยนำวัสดุทั้งสองไปหมักก่อน เป็นเวลาประมาณ 15-30 วันจึงค่อยนำมาใช้งาน
มาถึงเรื่องศัตรูพืช โดยปกติแล้วกัญชาจะมีศัตรูพืชโดยธรรมชาติ ได้แก่ แมลงหวี่ขาว หนอน ผีเสื้อ เพลี้ยแป้ง และไรแดง ซึ่งต้องดูแล โดยที่นี่ดูแลโดยการใช้สารชีวภัณฑ์ หรืออาจเป็นกาวดักแมลง ปัญหาอีกอย่างที่พบคือปัญหาเชื้อราบริเวณช่อดอก สาเหตุมาจากความชื้นสะสมภายในช่อดอก เมื่อเป็นแบบนั้นจะไม่สามารถนำมาใช้ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องดูแลควบคุมอย่างจริงจัง
“อ่านบทความเกี่ยวกับกัญชาเพิ่มเติมได้ที่นี่”
อ้างอิงรูปภาพ
https://www.shutterstock.com/th/image-photo/commercial-marijuana-grow-operation-631014320
https://www.shutterstock.com/th/image-photo/mature-hemp-flower-cola-top-green-1828607969